กรมการแพทย์ สบยช. เตือน กัญชาใช้ผิดเสี่ยงเกิดอาการทางจิต

กรมการแพทย์ โดยสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) เตือน การใช้กัญชาในทางที่ผิด มีอันตรายต่อสุขภาพ อาจส่งผลให้เกิดอาการทางจิต แนะผู้ปกครอง หมั่นสังเกตพฤติกรรมบุตรหลาน หากพบอาการเสี่ยง รีบนำตัวส่งโรงพยาบาลใกล้บ้าน

นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กัญชาและกัญชง ไม่ถูกจัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 อีกต่อไป แต่สารสกัดจากทุกส่วนของพืชกัญชา หรือกัญชง ยังเป็นยาเสพติดในประเภท 5 ยกเว้นสารสกัดที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตในประเทศ และมีสาร THC ไม่เกิน 0.2 % เฉพาะที่ได้รับอนุญาตให้สกัดจากพืชกัญชา หรือกัญชงที่ปลูกภายในประเทศ เนื่องจากสาร THC เป็นสารเสพติด หากใช้ในปริมาณที่สูงเป็นประจำ จะทำให้เกิดภาวะดื้อต่อสาร ทำให้จำเป็นต้องเพิ่มขนาดเพื่อจะให้ได้ผลเท่าเดิมและเกิดการติดได้

เรียนรู้-ทำความเข้าใจ อาการที่อาจเกิดขึ้นหากใช้กัญชา

การใช้กัญชาในระยะแรก จะออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท ทำให้ผู้ใช้ตื่นตัว ร่าเริง หัวเราะง่าย ช่างพูด พูดคนเดียว ยิ้มคนเดียว เมื่อเวลาผ่านไป 1 – 2 ชั่วโมง จะเริ่มออกฤทธิ์กดประสาท ทำให้มีอาการคล้ายกับเมาเหล้า หน้าแดง ลิ้นไก่พันกัน พูดไม่ค่อยรู้เรื่อง ซึม และง่วงนอน หากใช้กัญชาในปริมาณมาก จะทำให้เกิดภาพลวงตา ควบคุมตัวเองไม่ได้ เมื่อหมดฤทธิ์จะทำให้ผู้ใช้มีอารมณ์อ่อนไหว เลื่อนลอย สมองสั่งงานช้า ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม ใจสั่น หูแว่ว

กลุ่มเยาวชนอายุน้อยกว่า 25 ปี และกลุ่มผู้สูงอายุ ควรใช้กัญชาด้วยความระมัดระวัง และห้ามใช้ในผู้ที่มีอาการโรคหัวใจและหลอดเลือดขั้นรุนแรง หรือไม่สามารถควบคุมอาการได้ ผู้ที่มีประวัติความผิดปกติทางจิตเวช รวมถึงสตรีมีครรภ์และให้นมบุตร

แพทย์เตือน ใช้กัญชาปริมาณมาก เสี่ยงเกิดอาการทางจิต

นพ.สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กล่าวว่า แม้ว่ากัญชาจะมีประโยชน์ทั้งในทางการแพทย์ และในด้านอื่น ๆ แต่หากใช้ในทางที่ผิด อาจทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกาย ทำให้อ่อนเพลีย น้ำหนักตัวลดลง เกิดโรคต่าง ๆ ได้ง่าย ร่างกายเสื่อมโทรม ไม่สามารถทำงานได้ ความคิดและการตัดสินใจเสื่อมถอย นอกจากนี้ยังทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย

ผู้ที่ใช้กัญชาในปริมาณมาก อาจจะทำให้เป็นโรคจิต เกิดอาการวิตกกังวล หวาดระแวง เลื่อนลอย สับสน ฟั่นเฟือน ประสาทหลอน ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้

แพทย์แนะ ผู้ปกครอง ควรหมั่นสังเกตอาการบุตรหลาน

ผู้ปกครอง ควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมบุตรหลาน หากพบพฤติกรรมเสี่ยงต่อการนำกัญชาไปใช้ในทางที่ผิดให้รีบพูดคุยถึงผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายที่จะตามมา รวมถึงปัญหาการเสพติด

หากพบมีพฤติกรรมที่เข้าข่ายใช้กัญชาเกิดขนาด ให้รีบพาบุตรหลานพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือเข้ารับการบำบัดรักษาได้ที่ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานี และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์แม่ฮ่องสอน โรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น โรงพยาบาลธัญญารักษ์อุดรธานี โรงพยาบาลธัญญารักษ์สงขลา และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี

สามารถขอรับคำปรึกษาเรื่องยาและสารเสพติดได้ที่สายด่วนยาเสพติด 1165

ติดตามบทความและข่าวสุขภาพที่น่าสนใจอื่น ๆ ได้ที่ lodgingdominica.com