ส่องเศรษฐกิจโลกปี 66 สุดผันผวน

ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 ที่ยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างโลกตะวันตกและตะวันออก สงครามรัสเซีย-ยูเครน วิกฤติราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ความหวาดกลัวต่อการขาดแคลนอาหารที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก

วิกฤติเงินเฟ้อ ค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกที่พลิกคว่ำคะมำหงายจากช่วงฟื้นฟูดิ่งสู่ภาวะถดถอย รวมทั้งความผันผวนที่รุนแรงขึ้นในตลาดการเงินทั่วโลก

หลายคนคงกำลังตั้งคำถามว่า กำลังเกิดอะไรขึ้นกับ “โลกของเรา” ความโกลาหล และการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมาจะนำพาอะไรมาสู่เราบ้างในปีหน้า

ทำให้นึกถึงชื่อหนังสือที่เขียนโดย “อลัน กรีนสแปน” อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) The Age of Turbulence : Adventures in a New World…ซึ่งแม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะออกมานานแล้ว แต่ยุคแห่งความโกลาหลยังไม่สิ้นสุด และความโกลาหลที่แท้จริงเรากำลังเผชิญหน้าในโลกใหม่นี้จะเป็นอย่างไร

“ทีมเศรษฐกิจ” ชวนส่องเศรษฐกิจโลกในปี 2566 ไปกับ 3 กูรูชั้นนำในแวดวงเศรษฐกิจไทย

ดนุชา พิชยนันท์
เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)

เริ่มต้นจากเลขาสภาพัฒน์ มองทิศทางของเศรษฐกิจโลกในปี 2566 ว่า “มีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องจากปี 2565 ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจหลัก”

โดยเฉพาะสหรัฐฯ ยูโรโซน สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย สอดคล้องกับการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางที่จะมีความเข้มงวดมากขึ้น ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจยูโรโซนมีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากวิกฤติพลังงานที่ยังคงยืดเยื้อจากมาตรการคว่ำบาตรและการลดการนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย ขณะที่กลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ กลุ่มประเทศอาเซียนมีแนวโน้มชะลอตัวลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก

นอกจากนั้น ยังมีบางประเทศมีความเสี่ยงจากปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะประเทศที่มีสัดส่วนหนี้สินต่างประเทศสูง ส่วนเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นอย่างช้าๆ ตามแนวโน้มการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ และมาตรการจำกัดการเดินทางท่ามกลางความเสี่ยงและข้อจำกัดจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์

ส่องเศรษฐกิจโลกปี 66 สุดผันผวน
“สศช.มองแนวโน้มในกรณีฐาน คาดว่าเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกในปี 2566 จะขยายตัว 2.6% และ 2% ชะลอลงจาก 3.1% และ 4% ในปี 2565 ตามลำดับ”

กรณีฐานอยู่บนสมมติฐาน คือ 1.การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางของแต่ละประเทศไม่นำไปสู่การถดถอยทางเศรษฐกิจที่รุนแรงและยาวนาน ไม่ก่อให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินโลกจนทำให้เกิดวิกฤติ โดยเฉพาะในประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศรายได้น้อยที่มีปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ 2.ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมถึงความยืดเยื้อของความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ไม่ขยายไปสู่การใช้กำลังทางทหารในพื้นที่อื่นๆ หรือทวีความรุนแรงจนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง การแบ่งขั้วอำนาจทางการเมืองโลกไม่นำไปสู่มาตรการการกีดกันทางการค้าที่รุนแรงจนส่งผลให้ปริมาณการค้าโลกถดถอย

3.ตลาดพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวได้ดีขึ้นและไม่มีการปรับลดการนำเข้าพลังงาน โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติอย่างฉับพลันจนอาจส่งผลให้เกิดภาวะวิกฤติขาดแคลนพลังงานอาหาร และนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานและสินค้า และ 4.การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ไม่นำไปสู่การบังคับใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดและจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศที่เข้มงวดมากขึ้นอีกครั้งจนกระทบต่อเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัว 0.7% ในปี 2566 ชะลอตัวลงต่อเนื่องจาก 1.7% ในปี 2565 เป็นผลมาจากการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ขณะที่เศรษฐกิจยูโรโซน คาดว่าจะขยายตัว 0.3% ชะลอตัวลงจาก 2.6% ในปี 2565 จากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อทำให้ต้นทุนพลังงานสูงขึ้น โดยประเทศที่นำเข้าพลังงานสูง ได้แก่ เยอรมนี ออสเตรีย ฮังการี และเช็ก มีแนวโน้มเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยมากขึ้น

เศรษฐกิจญี่ปุ่น คาดว่าจะขยายตัว 2% เทียบกับ 1.4% ในปี 2565 มีแรงสนับสนุนจากการขยายตัวของการใช้จ่ายภายในประเทศที่มีแนวโน้มเร่งขึ้นจากโควิด-19 ที่คลี่คลายลง ด้านเศรษฐกิจจีน คาดว่าจะขยายตัว 4.2% ปรับตัวดีขึ้นจาก 3% ในปี 2565 จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากการผ่อนปรนมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด

ส่วนเศรษฐกิจกลุ่มประเทศเกิดใหม่ มีแนวโน้มขยายตัวช้าลงจากการชะลอตัวของการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรม โดยคาดว่าเกาหลีใต้จะขยายตัว 2.1% ในปี 2566 ชะลอลงจาก 2.9% ในปี 2565 สิงคโปร์และไต้หวันคาดว่าจะขยายตัว 2.1% และ 2.5% ชะลอลงจาก 4.1% และ 3.1% ในปี 2565 ขณะที่กลุ่มประเทศอาเซียนมีแนวโน้มขยายตัวจากการใช้จ่ายภายในประเทศและการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว คาดว่าในปี 2566 เศรษฐกิจอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม จะขยายตัว 4.5%, 4.2%, 4.5% และ 5.2% ตามลำดับ

ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร
อ.คณะนิติศาสตร์ และ ผอ.ศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“ในปี 66 ผมมองว่า เศรษฐกิจโลกยังคงเผชิญความผันผวนและท้าทายจากปัจจัยเชิงภูมิรัฐศาสตร์ เรียกได้ว่าเราเข้าสู่ยุคที่ภูมิรัฐศาสตร์ หรือการเมืองโลก ที่มีผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจ” ดร.อาร์มกล่าว โดยมี 3 ปัจจัยที่น่าจับตาทั้งแผลเก่าและแผลใหม่ แผลเก่าคือ สงครามยูเครน ที่มีแนวโน้มอาจพักรบและลดความร้อนแรงในช่วงฤดูหนาว แต่จะกลับมาร้อนแรงอีกครั้งหลังฤดูหนาวในต้นปี 66 และคงจะยังยืดเยื้อต่อไป และเรื่องที่ 2 คือ สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่ลุกลามเป็นสงครามเทคโนโลยี โดย เฉพาะในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ย่อมส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของ Supply Chain (ห่วงโซ่การผลิต) โลกขนานใหญ่

ส่วนแผลใหม่และเป็นเรื่องที่ 3 คือ ความขัดแย้งไต้หวัน ซึ่งปี 66 สหรัฐฯจะออกกฎหมายใหม่เรื่องไต้หวัน และจะเป็นปีที่ปูทางสู่การเลือกตั้งใหญ่ในไต้หวันและสหรัฐฯ ในปีถัดไป ทำให้โอกาสที่สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างจีน สหรัฐฯ และไต้หวัน จะร้อนแรงและมีอยู่ตลอด แต่ผมประเมินว่าคงไม่ลุกลามไปสู่สงคราม

“ในบรรดา 3 เศรษฐกิจใหญ่ สหรัฐฯจะประสบภาวะเศรษฐกิจถดถอยค่อนข้างแน่นอน ส่วนยุโรป เนื่องจากสงครามยูเครนยืดเยื้อคงยากที่จะฟื้นตัว แต่จีนมีโอกาสสูงที่จะฟื้นตัวในปี 66 ตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป เพราะการเปิดเมืองกลับมาใช้ชีวิตปกติหลังโควิด”

ส่องเศรษฐกิจโลกปี 66 สุดผันผวน
สำหรับการยกเลิกนโยบาย Zero Covid ของจีนในเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา เป็นไปอย่างรวดเร็วกว่าที่ทุกคนคิด โดยที่ผ่านมานโยบาย Zero Covid เป็นตัวกดดันเศรษฐกิจจีนมาตลอด ช่วงปี 65 และยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภูมิภาค เช่น ปริมาณการส่งออกไปจีน รวมทั้งปริมาณนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางออกมา

“ผมคิดว่าจีนจะสามารถเปิดประเทศได้เต็มที่ตั้งแต่เดือน ม.ค.66 ซึ่งจะมีนักท่องเที่ยวจีนจำนวนมหาศาลเดินทางออกนอกประเทศ หลังจากปิดเมืองมานาน 3 ปี ซึ่งจะส่งผลบวกที่ชัดเจน ต่อเศรษฐกิจไทย และเชื่อว่าจะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยในปี 66 สูงกว่าที่เคยประเมินไว้”

อย่างไรก็ตาม ไตรมาสแรกของปี 66 ซึ่งเป็นช่วงฤดูหนาวและช่วงการเดินทางในเทศกาล ตรุษจีน สถานการณ์การระบาดในจีนน่าจะยังคงรุนแรง และจะยังส่งผลกดดันต่อเศรษฐกิจจีน แต่หลังจากเดือน มี.ค.เมื่อเข้าสู่ไตรมาสที่ 2 และเป็นช่วงเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลใหม่ของจีน น่าจะทำให้จีนกลับมาเน้นฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างเต็มที่

ดังจะเห็นสโลแกนใหม่ของจีนที่ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่เรียกร้องให้ “รัฐวิสาหกิจกล้าทำ เอกชนกล้าเสี่ยง ต่างชาติกล้าลงทุน” ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า จีนพยายามจะสร้างบรรยากาศเศรษฐกิจให้กลับมาคึกคักและดีดตัวหลังเปิดเมือง ส่วนความท้าทายยังคงเป็นปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่ยังฉุดเศรษฐกิจ และปัญหาสงครามการค้า รวมถึงสงครามเทคโนโลยีกับสหรัฐฯที่มีแต่จะทวีความรุนแรงขึ้นต่อจากนี้

และอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องจับตา คือ การจัดประชุมใหญ่ความร่วมมือ Belt & Road ที่กรุงปักกิ่งในปี 66 ซึ่งจะจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ และจะใช้เป็นเวทีเดินเกมภูมิรัฐศาสตร์ใหม่ของจีน โดยการเชื่อมโยงกับตะวันออกกลาง เพิ่มเติมจากเอเชียกลาง และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก่อนหน้านี้ และเป็นจีนที่ยังคงเปิดประเทศ และส่งเสริมการค้าการลงทุนภายนอก เพียงแต่เปลี่ยนจากที่เคยเชื่อมโยงกับยุโรปและโลกตะวันตก หันเข้าหาประเทศกำลังพัฒนามากขึ้น

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล
กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ และประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย

จบท้ายด้วย ดร.กอบศักดิ์ ซึ่งติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด “ณ จุดนี้ ชัดเจนว่าเศรษฐกิจปี 66 จะเป็นอีกปีที่มีสีสันไม่แพ้ 3 ปีที่ผ่านมา ที่เราต้องฟันฝ่าต่อสู้กับโควิด-19 และมรสุม Perfect Storm ทำให้ตลาดการเงินโลกมีความผันผวนอย่างไม่เคย

เป็นมาก่อน สร้างความเสียหายให้กับทุกคน”ส่องเศรษฐกิจโลกปี 66 สุดผันผวน

ประการแรก : คงยากยิ่งที่เศรษฐกิจโลกในหลายพื้นที่จะสามารถหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยไปได้ โดยจากประมาณการเบื้องต้นขององค์กรระดับโลกอย่างกองทุนการเงินระหว่างประเทศ คาดว่าโลกจะโตได้เพียง 2.7% ส่วน Fitch Ratings มอง ไว้ต่ำมากที่ 1.4% สิ่งสำคัญสุดที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดในปี 66 ที่กำลังจะถึง ก็คือ ภาคการผลิตและภาคการส่งออกของเรา ที่จะเป็นจุดหลักในการรับแรง กระแทกในพื้นที่เศรษฐกิจหลักๆ เช่น สหรัฐฯ ยุโรป ละตินอเมริกา คงแทบจะไม่โต หรือโตติดลบในปีหน้า แถมยังจะถูกซ้ำเติมจากเศรษฐกิจจีนซึ่งจะโตได้ต่ำกว่าปกติพอสมควร จากวิกฤติอสังหาฯที่ยังต้องแก้ไข ซึ่งล่าสุดพบว่าภาคส่งออกของไทยก็เริ่มได้รับผลกระทบบ้างแล้ว โดยมูลค่าส่งออกของเราที่ปรับฤดูกาลแล้วลดลงถึง 10% จากช่วงกลางปี

ประการที่สอง : เราจะต้องเจอกับความผันผวนของตลาดการเงินโลก ทั้งราคาหุ้น พันธบัตร ทองคำ สินค้าโภคภัณฑ์ คริปโตเคอร์เรนซี และค่าเงินสกุลต่างๆ ยังจะคงปั่นป่วนขึ้นลงให้ใจหายไปอีกระยะ สาเหตุเพราะสงครามของธนาคารกลางกับเงินเฟ้อยังไม่สะเด็ดน้ำ เฟดยังต้องขึ้นดอกเบี้ยไปอีกระยะ และต้องแช่ไว้ในระดับสูงไปจนถึงปลายปี 66-ต้นปี 67 จึงจะเริ่มลดดอกเบี้ยลงได้ ขณะที่เงินเฟ้อในบางพื้นที่ เช่น ที่สหภาพยุโรปหรืออังกฤษ ยังคงสูงกว่า 10% และยังลดลงมาไม่มาก

“ตลาดและนักลงทุนยังจะต้องปรับตัวกับการตัดสินใจของธนาคารกลางเหล่านี้ไปอีกระยะ และมีความผันผวนเกิดขึ้นเป็นช่วงๆ จนกระทั่งถึงจุดหนึ่งที่ทุกอย่างเริ่มเข้าที่ ทำให้ราคาสินทรัพย์บางส่วนเริ่มเข้าสู่ช่วงการฟื้นตัวรอบใหม่ในช่วงปี 66 และเราไม่ควรพลาด”

ประการที่สาม : เป็นอีกความท้าทายที่จะชัดมากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปก็คือ วิกฤติเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ โดยที่เกิดขึ้นในปีนี้ในศรีลังกา อียิปต์ ปากีสถาน ตุรกี และกานา ทำให้เศรษฐกิจกลุ่มประเทศเกิดใหม่ ซึ่งมีไทยรวมอยู่ด้วยจะถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด ยิ่งธนาคารกลางต่างๆ ต้องปรับดอกเบี้ยขึ้น ยิ่งเศรษฐกิจประเทศหลักเข้าสู่ภาวะถดถอยที่ลึกขึ้น จะยิ่งกระทบต่อการส่งออกประเทศเกิดใหม่ ทำให้มีรายได้จากต่างประเทศลดลง มีปัญหาการจ่ายคืนหนี้มีเงินสำรองร่อยหรอ จนนำไปสู่วิกฤติอีกรอบ เพิ่มดีกรีของความผันผวนและสีสันให้กับปี 66

“ทั้งหมดหมายความว่าเศรษฐกิจปีหน้าจะไม่ง่าย เราต้องเตรียมการให้ดี โดยธุรกิจต้องพยายามลดต้นทุนที่ไม่จำเป็นแต่เนิ่นๆ คุยกับธนาคารพาณิชย์เอาไว้ก่อน เพื่อให้มีสภาพคล่องที่พอไว้รองรับกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในหลายพื้นที่ของโลกที่จะเริ่มในช่วงกลางปี 66 ต่อไปยังถึงต้นปี 67 เป็นอย่างน้อย”

แต่ยังโชคดีที่ประเทศไทยยังพอขยายตัวได้บ้างท่ามกลางมรสุม Perfect Storm ยิ่งไปกว่านั้น ไทยจะได้รับผลดีจากการท่องเที่ยวที่กำลังกลับมาในจังหวะเวลาที่เหมาะสม และเมื่อจีนเปิดประเทศในต้นปีหน้าจะมีนักท่องเที่ยวจีนมาเที่ยวสมทบ มาเที่ยวแบบล้างแค้นจากที่ออกมาไม่ได้ถึง 3 ปีเต็มๆ ก็จะทำให้เศรษฐกิจไทยพอจะลื่นไหลไปได้บ้าง

รวมทั้งยังมีแรงขับเคลื่อนด้านบวกอีกด้านที่จะมาช่วยผ่อนหนักเป็นเบา ก็คือ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ-รัสเซีย สหรัฐฯ-จีน ซึ่งยังคุกรุ่น ทำให้นักลงทุนทั่วโลกหันกลับมามอง และเห็นตรงกันว่าอาเซียน คือ พื้นที่ที่น่าสนใจสุดของโลก เป็นพื้นที่ซึ่งเขาต้องยึดหัวหาด พลาดพลั้งไม่ได้

ส่วนคำถามที่ว่า “ไทยจะไปได้ดีแค่ไหน จะยังโตในปีหน้าหรือไม่” ขึ้นกับว่าเราบริหารความเสี่ยงทั้ง 3 ประการ และบริหารพลังขับเคลื่อนใหม่ทั้งการท่องเที่ยวและการลงทุนต่างประเทศ “ผ่อนหนักเป็นเบา” ได้ดีมากน้อยแค่ไหน

“ถ้าทำได้ดี เราก็จะยืนหยัดอยู่ได้ท่ามกลางวิกฤติ และวิกฤตินี้จะเป็นโอกาสของเราถ้าทำไม่ดี เราก็คงได้รับผลกระทบ ต้องเสียเวลาลุกขึ้น ทำให้พลาดโอกาสดีๆที่จะเปิดขึ้น ส่วนจะไปทางไหนขึ้นอยู่กับว่าธุรกิจและรัฐบาลไทยเตรียมการดีหรือไม่ในช่วง 5-6 เดือนข้างหน้า

อย่าตายใจว่า ปัญหาไกลตัว คนที่รู้จักกลัว มักจะเป็นคนที่รอดไปได้ ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคน.

ขอบคุณแหล่งที่มา : thairath.co.th

สามารถอัพเดตข่าวสารเรื่องราวต่างๆได้ที่ : lodgingdominica.com